ม.ราชภัฏเพชรบูรณ์ เผยผลสำรวจ “ราชภัฏเพชรบูรณ์โพลล์”
ชาวเพชรบูรณ์ วิตกโควิด-19 ต้องการขยายเวลาล็อคดาวน์ต่อ
หลังจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดเพชรบูรณ์ เรื่อง การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 600 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว ด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามทางอินเทอร์เน็ต (Internet Survey)
ผลของการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความวิตกกังวลกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ถึงร้อยละ 69.20 ส่วนผู้ที่มีความวิตกกังวลน้อยถึงน้อยที่สุด มีเพียงร้อยละ 7.60 ส่วนการปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ร้อยละ 92.83 สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่กับผู้อื่น ร้อยละ 86.67 พบว่า มีการล้างมือ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ และร้อยละ 79.00 พบว่า ประชาชนอยู่กับบ้านให้มากที่สุด
ส่วนด้านความมั่นใจต่อการบริหารจัดการในการป้องกันผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ร้อยละ 76.83 ประชาชนมีความมั่นใจปานกลางถึงมาก มีประชาชนเพียงร้อยละ 2.67 เท่านั้นที่มีความั่นใจน้อยต่อการบริหารจัดการในการป้องกันผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้านความต่อเนื่องของมาตรการล็อคดาวน์ พบว่า ร้อยละ 100 ประชาชนมีความต้องการให้มีมาตรการล็อคดาวน์ต่อเนื่อง โดยร้อยละ 42.33 พบว่าประชาชนมีความเห็นว่า ควรให้มีมาตรการที่เข้มงวดตลอดไปจนกว่าจะปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 42.00 ต้องการให้มีมาตรการที่เข้มงวดไปอีกระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ลดการใช้มาตรการลง และร้อยละ 14.83 พบว่า ประชาชนต้องการให้มีมาตรการที่เข้มงวดจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 แล้วยกเลิกการใช้มาตรการที่เข้มงวด
ส่วนด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความสำคัญต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.33 เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความสำคัญมากถึงมากที่สุดต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเมื่อสอบถามความคิดเห็นถึงด้านความมั่นใจในการใช้บริการสถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมมากถึงมากที่สุดเรียงตามลำดับความมั่นใจ พบว่า ร้อยละ 63.50 มั่นใจกิจการตลาดไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ ร้อยละ 63.16 กิจการร้านอาหาร ร้อยละ 57.84 กิจการร้านตัดผมเสริมสวย ร้อยละ 54.83 กิจการร้านค้าปลีก-ส่ง ร้อยละ 54.50 กิจการกีฬาและนันทนาการ และร้อยละ 48.00 กิจการอื่น ๆ